วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2559

หญ้าหวาน

หญ้าหวาน

หญ้าหวาน ชื่อสามัญ Stevia (สตีเวีย)
หญ้าหวาน ชื่อวิทยาศาสตร์ Stevia rebaudiana (Bertoni) Bertoni (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Eupatorium rebaudianum Bertoni, Stevia rebaudiana (Bertoni) Hemsl.) จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE) เป็นพืชพื้นเมืองของประเทศบราซิลและทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศปารากวัยในทวีปอเมริกาใต้
ทำไมถึงเรียกว่าหญ้าหวาน? นั่นเป็นเพราะว่าในส่วนของใบหญ้าหวานนั้นมีความหวานมากกว่าน้ำตาลถึง 10-15 เท่า แต่เป็นความหวานที่ไม่ก่อให้เกิดพลังงาน และที่สำคัญก็คือสารสกัดที่ได้จากหญ้าหวานที่มีชื่อว่า สตีวิโอไซด์ (Stevioside) นั้นเป็นสารที่ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลถึง 200-300 เท่า ! และด้วยความที่มันมีคุณสมบัติพิเศษอย่างนี้ หญ้าหวานจึงเป็นพืชที่กำลังได้รับความสนใจจากผู้รักสุขภาพเป็นอย่างมาก โดยได้มีการนำไปใช้ในด้านอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างเครื่องดื่ม ยาสมุนไพร และในด้านการแพทย์
ซึ่งแน่นอนว่า ชาวพื้นเมืองในประเทศปารากวัยก็รู้จักนำหญ้าหวานมาสกัดเพื่อใช้ในการบริโภค หลายศตวรรษแล้ว โดยนำมาใช้ผสมในเครื่องดื่ม ชงกับชา ฯลฯ และสำหรับต่างประเทศ อย่างประเทศญี่ปุ่นก็ได้มีการใช้สารสกัดดังกล่าวมานานมากเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว โดยนำไปใช้ผสมกับผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ เช่น เต้าเจี้ยว ซีอิ๊ว ผักดอง เนื้อปลาบด เป็นต้น
สำหรับในประเทศไทย หญ้าหวานได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในภายหลัง และได้มีการนำเข้ามาปลูกในช่วงปี พ.ศ.2518 โดยได้มีการนำมาเพาะปลูกในภาคเหนือ ซึ่งจะเพราะปลูกกันมากในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา และลำพูน เนื่องจากพืชนิดนี้จะชอบอากาศค่อนข้างหน้าเย็น ในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิประมาณ 20-26 องศาเซลเซียส และพืชชนิดนี้จะเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดีเมื่อเพาะปลูกในพื้นที่สูง ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 600-700 เมตร

หญ้าหวานสมุนไพรอันตราย สู่สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

หญ้าหวานมีการใช้กันอย่างกว้างขวางยาวนานโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกาใต้ เมื่อปี ค.ศ.1887 ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีรายงานว่ามันเป็นอันตรายแต่อย่างใด จนกระทั่งต่อมาในปี ค.ศ.1985 ก็ได้มีผลงานวิจัยทางด้านลบของหญ้าหวานออกมา โดยนักวิทยาศาสตร์ที่ชื่อ John M. Pezzuto และคณะ ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน ได้สรุปผลการวิจัยและตีพิมพ์ลงในวารสาร Proc. Nati. Acad. Sci. โดยระบุว่าหญ้าหวานนั้นอันตราย เพราะทำให้เกิดการ Mutagenic สูงมากในหนูทดลอง ซึ่งจากผลงานวิจัยนี้เอง ส่งผลให้องค์การอาหารและยาของสหรัฐ(FDA) ออกมาประกาศว่าหญ้าชนิดไม่ปลอดภัยและห้ามใช้เป็นสารปรุงแต่งในอาหาร และส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย (ขณะนั้นนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี)
หญ้าหวาน
ต่อมาในปี ค.ศ.1991 มีนักวิทยาศาสตร์ที่ชื่อว่า Emily Procinska และคณะ ได้ออกมาคันค้นรายงานวิจัยของ John M. Pezzuto ว่าอาจมีข้อผิดพลาด โดยตีพิมพ์ในวารสาร Mutagenesis ระบุว่า หญ้าหวานไม่มีผลทำให้เกิด Mutagenic แต่อย่างใด ทั้งนี้ได้ทำการทดลองซ้ำอยู่หลายครั้ง หลังจากนั้นเป็นมาก็ได้มีรายงานต่าง ๆ ออกตามมาอีกมากมายที่ระบุว่าผลของ mutagenic ในสารสกัดหญ้าหวานมีผลน้อยมาก หรืออาจจะมีผลบ้างเล็กน้อย และต่อมาได้มีการตรวจสอบความเป็นพิษพบว่างานวิจัยส่วนมากระบุว่าหญ้าหวานไม่ มีพิษ และไม่มีหลักฐานใด ๆ ระบุว่าหญ้าชนิดนี้อาจจะทำให้เกิดข้อบกพร่องหรือเกิดโรคมะเร็งแต่อย่างใด
แต่กระนั้นก็ตาม FDA ของสหรัฐเองก็ยังไม่สั่งระงับการห้ามใช้หญ้าหวานแต่อย่างใด จนในที่สุดองค์การอนามัยโลก หรือ WHO (World Health Organization) ได้ยื่นมือเข้ามาไกล่เกลี่ย และได้รายงานการประเมินผลอย่างละเอียดจากงานวิจัยต่าง ๆ และได้ระบุว่าหญ้าชนิดนี้ไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด และในที่สุดเมื่อปี ค.ศ.2009 ที่ผ่านมา FDA สหรัฐก็ได้มีการประกาศว่าหญ้าหวานเป็นพืชที่ปลอดภัย และให้การยอมรับว่าเป็น GRAS (Generally Recognized As Safe)
และจากผลงานวิจัยของทีมวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ข้อสรุปว่า สารสกัดจากหญ้าหวานมีความปลอดภัยในทุก ๆ กรณี โดยค่าสูงสุดที่กินได้อย่างปลอดภัยคือ 7,938 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งสูงมากถ้าเทียบเท่ากับการการผสมในเครื่องดื่มหรือกาแฟถึง 73 ถ้วยต่อวัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้แน่นอน เพราะคนส่วนใหญ่กินกันประมาณ 2-3 ก็ถือว่ามากเพียงพอต่อวันแล้ว ซึ่งการใช้หญ้าหวานอย่างปลอดภัย คือ ประมาณ 1-2 ใบต่อเครื่องดื่ม 1 ถ้วย ถือเป็นปริมาณที่เหมาะสม และไม่หวานมากจนเกินไป
ในปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็ได้มีขึ้นทะเบียนให้สามารถใช้สารสตีวิโอไซด์เพื่อการบริโภคแทนน้ำตาลได้ เพราะมีความปลอดภัยสูง มีพิษเฉียบพลันต่ำ ไม่เป็นอันตราย หรือมีผลข้างเคียงใด ๆ และที่สำคัญหญ้าหวานยังจัดให้อยู่ในหมวดพืชสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งอีกด้วย
ฤทธิ์ในการออกรสหวานของสารสตีวิโอไซด์จะไม่เหมือนกับน้ำตาลซะทีเดียว เนื่องจากสารสตีวิโอไซด์จะออกรสหวานช้ากว่าน้ำตาลทรายเล็กน้อย และรสหวานะของสารสตีวิโอไซด์จะจางหายไปช้ากว่าน้ำตาลทราย นอกจากนี้สารดังกล่าวยังเป็นสารที่ไม่มีคุณค่าทางอาหารแต่อย่างใด เพราะมีแคลลอรี่ต่ำมากหรือไม่มีเลยและจะไม่ถูกย่อยให้เกิดเป็นพลังงานกับ ร่างกาย แต่จากข้อด้อยตรงนี้นี่เองก็ถือเป็นจุดเด่นที่เหมาะอย่างมากสำหรับผู้ที่ เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิต โรคอ้วน และโรคหัวใจ

ลักษณะของหญ้าหวาน

  • ต้นหญ้าหวาน เป็นพืชล้มลุกอายุประมาณ 3 ปี ลักษณะเป็นพุ่มเตี้ย มีความสูงประมาณ 30-90 เซนติเมตร มีลำต้นแข็งและกลม ลักษณะทั่วไปคล้ายต้นโหระพา ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและการใช้กิ่งชำปลูก
ต้นหญ้าหวาน
  • ใบหญ้าหวาน ใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบคล้ายรูปหอกหัวกลับ ขอบใบหยักคล้ายฟันเลื่อย มีรสหวานมากใช้แทนน้ำตาลได้
สมุนไพรหญ้าหวาน
  • ดอกหญ้าหวาน ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ดอกมีสีขาว ดอกเล็ก กลีบเป็นรูปไข่สีขาวเล็กมาก มีเกสรีตัวผู้เป็นสีขาวงอไปมา ยื่นออกมาเล็กน้อย
ดอกหญ้าหวาน

สรรพคุณของหญ้าหวาน

  1. สมุนไพรหญ้าหวาน ช่วยเพิ่มกำลังวังชาน้ำตาลหญ้าหวาน
  2. ช่วยให้เลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น
  3. ช่วยในการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน ลดระดับน้ำตาลในเส้นเลือด เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
  4. สรรพคุณหญ้าหวานช่วยลดไขมันในเส้นเลือดสูง
  5. ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัว ความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน
  6. หญ้าหวาน สรรพคุณช่วยบำรุงตับ
  7. หญ้าหวาน สรรพคุณทางยาช่วยสมานแผลทั้งภายและภายนอก
advertisements

ประโยชน์ของหญ้าหวาน

  1. ช่วยเพิ่มการรับประทานอาหาร และช่วยลดความขมในอาหารได้
  2. ใช้เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล โดยไม่ทำให้นำตาลในเลือดสูง
  3. หญ้าหวานทางเลือกของคนอ้วน ให้ความหวานเหมือนน้ำตาล แต่ไม่ให้พลังงาน ทานเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน จึงช่วยในการควบคุมน้ำหนักได้เป็นอย่างดี
  4. มีการนำหญ้าหวานไปแปรรูปผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปต่าง ๆ โดยปัจจุบันนิยมบริโภคหญ้าหญ้าหวานอยู่ด้วย 5 รูปแบบ โดยเรียงลำดับจากมากไปน้อยได้แก่ ใบอบแห้ง, ใบแห้งบดสำหรับชงแบบสำเร็จรูป (ชาหญ้าหวาน), ใบสด, ใบแห้งบดสำหรับใช้แทนน้ำตาล (หญ้าหวานผง), และแบบสารสกัดจากใบแห้งด้วยน้ำ โดยจะนิยมนำมาชงเป็นชาดื่ม รองลงมาก็คือ การนำมาต้มและเคี้ยว แต่จะไม่ค่อยนิยมนำมาบริโภคในแบบผสมกับอาหารเท่าใดนัก
  5. มีการนำสารสกัดจากหญ้าหวานมาใช้แทนน้ำตาล หรือใช้ทดแทนน้ำตาลบางส่วน เพราะสารสตีวิโอไซด์นั้นมีความทนทานต่อกรดและความร้อนได้เป็นอย่างดี จึงสามารถนำใช้ในอาหารและเครื่องดื่มต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย เช่น น้ำอัดลม น้ำชาเขียว ขนมเบเกอรี่ แยม เยลลี่ ไอศกรีม ลูกอม หมากฝรั่ง ซอสปรุงรส ฯลฯ (ล่าสุดได้ยินมาว่าเครื่องดื่มแบรนด์ดังอย่างโคคา โคล่า ก็ได้มีจดสิทธิบัตรและได้ทำการผลิตโดยใช้สารสกัดนี้แล้วเหมือนกัน แต่ยังไม่เห็นจำหน่ายในไทย ซึ่งถ้ามีมาเมื่อไหร่ก็ถือเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ไม่อยากดื่มน้ำตาล เป็นซอง ๆ)
  6. ในอุตสาหกรรมอาหารสารสกัดจากหญ้าหวานถือว่ามีข้อดีหลายอย่าง เช่น การไม่ถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ เมื่อนำมาใช้กับอาหารจึงไม่ทำให้อาหารเกิดเน่าบูด ไม่ทำให้อาหารเกิดสีน้ำตาลเมื่อผ่านความร้อนสูง ๆ และที่สำคัญก็คือ จะไม่ถูกดูดซึมในระบบย่อยอาหาร จึงเหมาะอย่างมากสำหรับผู้ที่เป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิต และโรคหัวใจ
  7. สารสตีวิโอไซด์ นอกจากจะใช้ในอาหารและเครื่องดื่มแล้ว ปัจจุบันยังมีการนำไปใช้แทนน้ำตาลในการผลิตยาสีฟันอีกด้วย
ชาหญ้าหวาน

หญ้าหวาน อันตรายหรือไม่ ?

มีความกังวลว่า สารสกัดดังกล่าวสามารถทำให้เป็นหมันได้หรือไม่? แล้วมันจะไปขัดขวางการดูดซึมของสารอาหารอื่น ๆ ในร่างกายด้วยหรือเปล่า? เพราะเคยมีรายงานระบุว่าชาวปารากวัยกินหญ้าหวานแล้วทำให้เป็นหมันหรือไปลด จำนวนของอสุจิลง จนทำให้ประเทศไทยได้ใช้ประเด็นนี้ในการอ้างไม่อนุญาตให้มีการใช้หญ้าหวาน ซึ่งจากรายงานต่าง ๆ ที่ประชุมได้สรุปข้อมูลจากรายงายต่าง ๆ และได้มีการยืนยันว่าสารสกัดดังกล่าว เมื่อป้อนในหนูทดลองถึง 3 ชั่วอายุ จำนวน 3 รุ่น ไม่พบการก่อการพันธุ์แต่อย่างใด หมายความว่าหนูทดลองยังคงขยายพันธุ์ได้เป็นปกติ และในญี่ปุ่นก็ไม่ได้มีการห้ามใช้หรือกลัวประเด็นนี้แต่อย่างใด เพราะมีการใช้มายาวนานถึง 17 ปี โดยไม่พบว่ามีแนวโน้มความเป็นพิษแต่อย่างใด
ความเห็นส่วนตัว : ผู้เขียนมีแนวโน้มจะเชื่อว่าหญ้าหวานปลอดภัยในทุก ๆ กรณี หากเรารู้จักใช้ให้เหมาะกับโรค และใช้อย่างเหมาะสม ไม่รับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ก็ไม่น่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพแต่อย่างใด นอกจากนี้สารให้ความหวานชนิดนี้ ยังมีผลกระทบต่อบริษัทผู้ผลิตสารให้ความหวานจากการสังเคราะห์ในประเทศ รวมไปถึงนำเข้าสารสังเคราะห์ความหวานจากต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบ จึงอาจจะมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่บ้าง แต่อย่างไรก็ตาม สารให้ความหวานชนิดนี้ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการผลิตน้ำตาลในประเทศ เนื่องจากเป็นคนละกลุ่มคนละตลาด กลุ่มหนึ่งสำหรับผู้รักสุขภาพ และอีกกลุ่มสำหรับคนทั่วไป เพราะการจะใช้สารสกัดจากหญ้าหวานในชีวิตประจำวันเป็นหลักนั้น จึงเป็นไปยากและเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน
แหล่งอ้างอิง : มูลนิธิสุขภาพไทย, ฝ่ายวิชาการสถาบันการแพทย์แผนไทย, รองศาสตราจารย์ ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ (ภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์), ทีมวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สารานุกรมไทยรวมหลักเภสัชกรรมไทย (วุฒิ วุฒิธรรมเวช), เว็บไซต์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น