วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ว่านหางจระเข้

ว่านหางจระเข้

ว่านหางจระเข้ ชื่อสามัญ Aloe, Aloe Vera, Aloin, Barbados, Jafferabad, Star Cactus
ว่านหางจระเข้ ชื่อวิทยาศาสตร์ Aloe vera (L.) Burm.f. จัดอยู่ในวงศ์ XANTHORRHOEACEAE และอยู่ในวงศ์ย่อย ASPHODELOIDEAE
สมุนไพรว่านหางจระเข้ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ เช่น ว่านไฟไหม้ (ภาคเหนือ), หางตะเข้ (ภาคกลาง) เป็นต้น
ต้นว่านหางจระเข้ มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในแถบชายฝั่ง ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและบริเวณตอนใต้ของทวีปแอฟริกา โดยจัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี มีความสูงประมาณ 0.5-1 เมตร ลำต้นเป็นข้อปล้องสั้น มีใบเป็นใบเดี่ยว ใบหนาและยาว อวบน้ำ แผ่นใบมีสีเขียว มีจุดยาวสีขาวอ่อน ออกเรียงเวียนรอบต้น โคนใบใหญ่ ปลายใบแหลม ขอบใบหยัก มีหนามแหลมเล็ก ๆสีขาวอยู่ห่างกัน ข้างในใบเป็นวุ้นสีเขียวอ่อน ส่วนดอกว่านหางจระเข้ ออกดอกเป็นช่อกระจะที่ปลายยอด ดอกมีสีแดมอมสีเหลือง ก้านช่อดอกยาว โคมเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 6 แฉก เรียงเป็น 2 ชั้น เป็นรูปแตร ส่วนผลว่านหางจระเข้ เป็นผลแห้งคล้ายรูปกระสวย
ต้นว่านหางจระเข้
คำว่า “อะโล” (Aloe) มาจากภาษากรีกโบราณ ที่หมายถึงว่านหางจระเข้ ซึ่งเป็นคำที่แผลงมาจากคำว่า “Allal” ในภาษายิวที่มีความหมายว่าฝาดหรือขม เพราะเมื่อคนได้ยืนคำนี้ก็จะนึกถึงว่านหางจระเข้นั่นเอง ว่านหางจระเข้ปกติแล้วเป็นพืชที่ขึ้นในเขตร้อนและภายหลังได้แพร่ขยายพันธุ์ ไปสู่เอเชียและยุโรป จนทุกวันนี้ว่านหางจระเข้ก็เป็นที่นิยมของทั่วโลกไปแล้ว โดยว่านหางจระเข้จะมีมากมายกว่า 300 สายพันธุ์ ซึ่งมีตั้งแต่ขนาดเล็กกว่า 10 เซนติเมตรไปจนถึงสายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ ลักษณะพิเศษของว่านหางจระเข้ก็คือ มีใบแหลมคล้ายเข็ม มีเนื้อหาและในเนื้อมีน้ำเมือกเหนียว
ดอกว่านหางจระเข้
เมื่อพูดถึง สมุนไพรว่านหางจระเข้ เรามักจะนึกถึงสรรพคุณในการรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลสด ช่วยบรรเทาอาการปวดแสบปวดร้อน ใช้ทาเพื่อป้องรอยแผลเป็นมาตั้งแต่เด็ก ๆ ซึ่งสารที่สามารถใช้รักษาแผลดังกล่าวได้เป็นสาร Glycoprotein ที่มีชื่อว่า Aloctin A เป็น Anti-inflammatory ที่พบได้ในทุก ๆ ส่วนของว่านหางจระเข้ ซึ่งนอกจากสรรพคุณดังกล่าวแล้วยังมีประโยชน์ของว่านหางจระเข้อื่น ๆอีกมากมาย ไปดูกันเลย…
รูปว่านหางจระเข้วุ้นว่านหางจระเข้

สรรพคุณของว่านหางจระเข้

  1. ช่วยป้องกันโรคเบาหวาน ด้วยการรับประทานเนื้อวุ้น หรือจะทำเป็นน้ำปั่นว่านหางจระเข้มาดื่มก็ได้ ก็จะช่วยบรรเทาอาการและป้องกันโรคเบาหวานได้
  2. ว่านหางจระเข้ สรรพคุณช่วยแก้อาการปวดศีรษะ ด้วยการตัดใบสดของว่านหางจระเข้ แล้วทาปูนแดงด้านหนึ่ง แล้วเอาด้านที่ทาปูนปิดตรงขมับ จะช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะได้ (ใบ)
  3. วุ้นว่านหางจระเข้ มีสรรพคุณช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ช่วยป้องกันและลดการเกิดแผลในกระเพาะขณะท้องว่าง ช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารต่าง ๆ
  4. เนื้อว่านหางจระเข้สรรพคุณ ว่านหางจระเข้ช่วยแก้กระเพาะลำไส้อักเสบ ด้วยการใช้ใบนำมาปอกเปลือกเอาแต่วุ้น นำมารับประทานวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ (เนื้อวุ้น)
  5. ใช้เป็นถ่าย ยาระบาย ที่เปลือกของว่านหางจระเข้จะมีน้ำยางสีเหลือง ในน้ำยางจะสารแอนทราควิโนน (Anthraquinone) ที่มีฤทธิ์เป็นยาระบาย หากนำน้ำยางไปเคี่ยวให้น้ำระเหยออกแล้วทิ้งไว้ให้เย็น ก็ตะได้สารสีน้ำตาลเกือบดำ หรือเรียกว่า “ยาดำ” ซึ่งยาดำนี้เองใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาแผนโบราณที่ต้องการให้มีฤทธิ์เป็นยา ระบายอยู่หลายตำรับ (ยางในใบ)
  6. ช่วยรักษาอาการท้องผูก ด้วยการกรีดเอายางจากว่านหางจระเข้มาเคี่ยวให้งวด ทิ้งไว้ให้เย็นจะได้ก้อนยาสีดำ (ยาดำ) แล้วตักมาใช้ประมาณช้อนชา เติมน้ำเดือด 1 ถ้วย แล้วคนจนละลาย โดยผู้ใหญ่รับประทานครั้งละ 2 ช้อนชาก่อนนอน แต่ถ้าเป็นเด็กให้รับประทานครั้งละ 1 ช้อนชาก่อนนอน
  7. ช่วยรักษาริดสีดวงทวาร ด้วยการใช้เนื้อวุ้นจากใบเหลาให้เป็นปลายแหลมเล็กน้อย และนำไปแช่ตู้เย็นหรือน้ำแข็งจนเนื้อแข็ง แล้วนำไปใช้เหน็บในช่องทวารหนัก ควรหมั่นทำเป็นประจำวันละ 1-2 ครั้ง จนกว่าจะหาย (เนื้อวุ่น)
  8. ช่วยแก้หนองใน (ราก,เหง้า)
  9. ช่วยแก้มุตกิดหรือระดูขาวของสตรี (ราก,เหง้า)
  10. ทั้งต้นของว่านหางจระเข้ มีรสเย็น ใช้ดองกับสุรานำมาดื่มช่วยขับน้ำคาวปลาได้ (ทั้งต้น)
  11. ช่วยบรรเทาและแก้อาการปวดตามข้อ ด้วยการรับประทานเนื้อวุ้นครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ วันละ 3 ครั้งเป็นประจำจะช่วยทำให้อาการปวดดีขึ้น (วุ้นจากใบ)
  12. ใบว่านหางจระเข้มีรสเย็น นำมาตำผสมกับสุราใช้พอกรักษาฝีได้ (ใบ)
  13. ช่วยรักษาแผลสด แผลจากของมีคม แผลที่ริมฝีปาก แก้ฝี แก้ตะมอย ด้วยการใช้วุ้นจากใบนำมาแปะบริเวณแผลให้มิดชิดและใช้ผ้าปิดไว้ แล้วหยอดน้ำเมือกลงตรงแผลให้ชุ่มอยู่เสมอหรือจะเตรียมเป็นขี้ผึ้งก็ได้ (วุ้นจากใบ)
  14. ช่วยรักษาแผลถลอก และจากการถูกครูด (แผลพวกนี้จะเจ็บปวดมาก) ให้ใช้วุ้นว่านหางจระเข้นำมาทาแผลเบา ๆ ในวันแรกต้องทาบ่อย ๆ จะช่วยในการสมานแผล ทำให้แผลหายเร็วยิ่งขึ้น และทำให้ไม่เจ็บแผลมาก (วุ้นจากใบ)
  15. ช่วยรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ช่วยดับพิษร้อนบรรเทาอาการปวดแสบปวดร้อนจากแผล ด้วยการใช้วุ้นจากใบสดที่ล้างน้ำสะอาด แล้วฝานบาง ๆ นำมาทาหรือแปะไว้บริเวณแผลตลอดเวลา จะช่วยทำให้แผลหายเร็วมากขึ้นและอาจไม่เกิดรอยแผลเป็นด้วย (วุ้นจากใบ)
  16. ช่วยขจัดรอยแผลเป็น ทำให้แผลเป็นจางลง ป้องกันการเกิดรอยแผลเป็น (วุ้นจากใบ)
  17. ช่วยรักษาตาปลาและฮ่องกงฟุต ด้วยการใช้วุ้นจากใบที่ล้างสะอาดแล้ว นำมาปิดไว้บริเวณที่เป็นและหมั่นเปลี่ยนบ่อย ๆ จนกว่าจะดีขึ้น (วุ้นจากใบ)
  18. วุ้นจากใบใช้ทาเพื่อปกป้องผิวจากแสงแดด ด้วยการใช้วุ้นจากใบทาก่อนออกแดด หรือจะใช้ใบสดก็ได้ แต่ใบสดอาจทำให้ผิวหนังแห้ง เพราะใบมีฤทธิ์ฝาดสมาน ถ้าต้องการลดการทำให้ผิวแห้ง ก็อาจจะใช้ร่วมกับน้ำมันพืชหรืออาจเตรียมเป็นโลชั่นก็ได้ (วุ้นจากใบ)
  19. ช่วยรักษาอาการผิวหนังไม้จากแสงแดด หรือไหม้เกรียมจากการฉายรังสี หรือแผลเรื้อรังจากการฉายรังสี โดยนำวุ้นของว่ายหางจระเข้มาทาผิวบ่อย ๆ ก็จะช่วยลดการอักเสบได้ แต่ถ้าไปนาน ๆระวังผิวแห้ง ควรผสมกับน้ำมันพืช เว้นแต่ว่าจะทำให้ผิวเปียกชุ่มอยู่ตลอดเวลา (วุ้นจากใบ)
  20. วุ้นจากใบใช้ทาเพื่อรักษาฝ้า (วุ้นจากใบ)
  21. ช่วยรักษาโรคเรื้อนกวาง (โรคสะเก็ดเงิน) ช่วยลดการตกสะเก็ดและลดอาการคันของโรคเรื้อนกวาง ทำให้แผลดูดีขึ้น (วุ้นจากใบ)
advertisements

ประโยชน์ของว่านหางจระเข้

  1. น้ําว่านหางจระเข้ สามารถช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ มีส่วนช่วยชะลอความแก่ชรา และช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้อีกด้วย
  2. ว่านหางจระเข้อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ รวมไปถึงกรดอะมิโน อีกหลายชนิดที่จำเป็นและมีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ธาตุแมกนีเซียม ธาตุโพแทสเซียม ธาตุทองแดง ธาตุแมงกานีส ธาตุซีลีเนียม ธาตุโครเมียม วิตามินเอ วิตามินซี วิตามิอี วิตามินบี1 วิตามินบี2 วิตามินบี3 วิตามินบี6 วิตามินบี9 โคลีน และยังเป็นพืชเพียงไม่กี่ชนิดที่มีวิตามินบี12 ด้วย
  3. น้ําว่านหางจระเข้ช่วย ในการย่อยอาหาร ทำความสะอาดลำไส้ใหญ่ ช่วยในการดีท็อกซ์ล้างสารพิษในร่างกาย ช่วยในการทำงานของระบบกระเพาะอาหาร และช่วยลดปริมาณของเชื้อแบคทีเรียในลำไส้
  4. จากวารการแพทย์อังกฤษตีพิมพ์ในปี 2000 (British Medical Journal) ระบุว่าสารสกัดจากว่านหางจระเข้ สามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ช่วยควบคุมความดันโลหิตและเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต และอาจจะมีความเป็นไปได้ว่ามันสามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจได้ อีกด้วย
  5. ช่วยป้องกันแก้อาการเมารถเมาเรือ ด้วยการรับประทานเนื้อวุ้นว่านหางจระเข้หรือน้ําว่านหางจระเข้เย็น ๆ ก็จะช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวได้
  6. การใช้วุ้นว่านหางจระเข้ทาเป็นประจำวันละ 2-4 8รั้ง จะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งผิวหนัง
  7. ช่วยบำรุงผิวพรรณ ช่วยทำให้ผิวพรรณเนียนนุ่ม ดูชุ่มชื้น แก้ปัญหาผิวแห้งกร้านตามหัวเข่า, ข้อศอก หรือส้นเท้าได้ เพียงแค่ใช้วุ้นจากใบว่านหางจระเข้แช่ในอ่างอาบน้ำ ในระหว่างอาบให้ใช้เนื้อวุ้นถูตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่ต้องการ หากทำเป็นประจำก็จะช่วยทำให้ผิวพรรณของคุณเนียนนุ่มชื่นชื้นและเต่งตึงได้
  8. ช่วยเติมน้ำให้ผิว ทำให้ผิวหน้าและผิวกายชุ่มชื้น และป้องกันการเกิดริ้วรอยแห่งวัย เพียงแค่ใช้วุ้นจากใบว่านหางจระเข้นำมาพอกให้ทั่วบริเวณใบหน้าหรือบริเวณผิว ที่ต้องการ ทิ้งไว้ประมาณ 15 นาทีแล้วล้างออก จะช่วยทำให้ผิวพรรณชุ่มชื้นสดใสและดูเต่งตึงขึ้น
  9. ว่านหางจระเข้รักษาสิว ยับยั้งการติดเชื้อที่เป็นสาเหตุของสิว ช่วยลดรอยดำจากสิว และช่วยลดความมันบนใบหน้า เพราะในใบว่างหางจระเข้จะมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ๆ (ไม่แนะให้ใช้กับสิวอักเสบ เพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย)
  10. ช่วยรักษาจุดด่างดำตามผิวหนัง อันเนื่องมาจากแสงแดดหรือจากอายุที่มากขึ้น ด้วยการใช้วุ้นจากใบสดนำทาที่ผิววันละ 2 ครั้งหลังอาบน้ำ และต้องทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอจึงจะเห็นผล
  11. ช่วยป้องกันการเกิดฝ้า หากใช้ว่านหางจระเข้เป็นประจำก็จะช่วยป้องกันการเกิดฝ้าได้เป็นอย่างดี (ไม่ใช่การรักษาแต่เป็นการป้องกัน)
  12. วุ้นจากใบสดใช้ชโลมบนเส้นผม จะช่วยทำให้เส้นผมสลวย ผมดกเป็นเงางาม ช่วยป้องกันและขจัดรังแค ช่วยบำรุงต่อมที่รากผมให้มีสุขภาพดี และยังช่วยรักษาแผลบนหนังศีรษะได้อีกด้วย
  13. ในฟิลิปปินส์ ใช้วุ้นจากว่านหางจระเข้ร่วมกับเนื้อในของเมล็ดสะบ้า ในการรักษาผมร่วง หรือหนังศีรษะล้าน
  14. ปัจจุบันได้มีการทดลองใช้วุ้นจากใบเพื่อรักษาคนไข้ที่เป็นแผลกดทับ (Bedsore)
  15. ประโยชน์ ว่านหางจระเข้ช่วยลบท้องลาบหลังคลอด ด้วยการใช้วุ้นของว่านหางจระเข้มาทาบริเวณท้องเป็นประจำทั้งในขณะตั้งครรภ์และหลังคลอด
  16. ช่วยแก้เส้นเลือดดำขอดบริเวณขา ด้วยการใช้วุ้นว่านหางจระเข้มาทาบริเวณที่เป็นเส้นเลือดขอดเป็นประจำ
  17. สาร Aloctin A พบว่ามันสามารถช่วยรักษาโรคต่าง ๆได้หลายโรค เช่น โรคมะเร็ง ช่วยแก้อาการแพ้ รักษาโรคผิวหนัง เป็นต้น
  18. ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ หลายรูปแบบ ที่ผลิตมาจากว่านหางจระเข้ เช่น เครื่องสำอาง โลชั่น สบู่ แชมพู ครีมบำรุงผิว ครีมทาใต้ตา ครีมรักฝ้ากระจุดด่างดำ ครีมทาแผลสดแผลพุพอง เจลว่านหางจระเข้ เจลทรีทเม้นท์บำรุงผิวหน้า ฯลฯ
  19. นอกจากนี้ว่านหางจระเข้ยังสามารถนำมาทำเป็นอาหารจำพวกของหวานได้อีกด้วย เช่น น้ำวุ้นลอยแก้ว วุ้นแช่อิ่ม นำมาปาปั่นทำเป็นน้ำว่านหางจระเข้ เป็นต้น

สูตรว่านหางจระเข้พอกหน้า

  • สูตรบำรุงผิวหน้า กระชับรูขุมขน เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว ว่านหางจระเข้พอกหน้าด้วย การใช้ วุ้นว่านหางจระเข้บด 1 ช้อยโต๊ะ / น้ำแตงกวา 1-2 ช้อนโต๊ะ / ดินสอพอง 1.5 ช้อนโต๊ะ นำมาผสมจนเข้ากันแล้วใช้พอกหน้าทิ้งไว้ประมาณ 15 นาทีแล้วล้างออก
  • สูตรลดสิว รักษารอยดำจากสิว ด้วยการใช้ วุ้นว่านหางจระเข้บด 1 ช้อนโต๊ะ / ไข่ขาว 2 ช้อนโต๊ะ / ดินสอพอง 1.5 ช้อนโต๊ะ นำมาผสมจนเข้ากันใช้ทาบริเวณใบหน้าทิ้งไว้ 15 นาทีแล้วล้างออก
  • สูตรลดความมัน แก้ปัญหาจุดด่างดำ ด้วยการใช้ วุ้นว่านหางจระเข้บด 1 ช้อนโต๊ะ / น้ำมะนาว 1 ช้อนชา / น้ำผึ้ง 1 ช้อนชา / ดินสอพอง 2 ช้อนโต๊ะ นำมาผสมให้เข้ากันแล้วนำมาพอกบริเวณใบหน้าทิ้งไว้ 15 นาทีแล้วล้างออก
  • สูตรผิวหน้ากระจ่างใส ด้วยการใช้ วุ้นว่านหางจระเข้ 1 ช้อนโต๊ะ / นมสด 1.5 ช้อนโต๊ะ / ดินสอพอง 1 ช้อนโต๊ะ นำมาผสมจนเข้ากันแล้วนำมาพอกหน้าทิ้งไว้ 15 นาทีแล้วล้างออก
  • สูตรเพิ่มความกระจ่างใส ลดความมัน ด้วยการใช้ วุ้นว่านหางจระเข้ 1 ช้อนโต๊ะ / นมสด 1.5 ช้อนโต๊ะ / ขมิ้นผง 2 ช้อนชา นำมาผสมจนเข้ากันแล้วนำมาพอกหน้าทิ้งไว้ประมาณ 15 นาทีแล้วล้างออก

คำแนะนำในการใช้ว่านหางจระเข้

  • การเลือกใช้ใบจากต้นว่านหางจระเข้ควรเลือกต้นที่มีอายุมากกว่า 1 ขึ้นไป และให้เลือกใบล่างสุดเพราะจะอวบโตและมีวุ้นมากกว่าใบที่อยู่ด้านบน
  • เนื่องจากวุ้นของว่านหางจระเข้ไม่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ควรปอกโดยใช้เทคนิคปลอดเชื้อ Aseptic technique เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • การนำวุ้นมาใช้เพื่อรักษาแผลจำเป็นต้องล้างน้ำให้สะอาด เพื่อป้องกันน้ำยางจากเปลือกที่มีสารแอนทราควิโนน (Anthraquinone) เพราะอาจจะทำให้เกิดอาการแพ้ได้
  • ว่านหางจระเข้จะมีคุณภาพสูงสุดเมื่อตัดมาแล้วใช้ทันที และจะมีสรรพคุณทางยาที่ดีกว่าผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป
  • วุ้นของว่านหางจระเข้จะไม่คงตัวเท่าไหร่นัก ดังนั้นถ้าปอกแล้วจะเก็บไว้ได้เพียง 6 ชั่วโมงเท่านั้น
  • หากนำว่านหางจระเข้ไปแช่ในตู้เย็นจนเย็นก่อนการนำมาใช้ จะช่วยทำให้รู้สึกสดชื่นเย็นสบายมากยิ่งขึ้น
  • การใช้ภายเพื่อใช้เป็นยาถ่าย ยาระบาย ไม่ควรใช้กับหญิงตั้งครรภ์ หรือหญิงที่กำลังจะมีประจำเดือน รวมไปถึงผู้ที่เป็นโรคริดสีดวงทวารได้
  • การใช้วุ้นจากใบเพื่อใช้เป็นยาทาภายนอก สำหรับบางรายแล้วอาจจะเกิดอาการแพ้ได้ (จากงานวิจัยพบว่าไม่ถึง 1%) โดยลักษณะของอาการแพ้หลังจากหรือปิดวุ้นลงบนผิวหนัง จะทำให้ผิวหนังเป็นผื่นแดงบาง ๆ หรืออาจมีอาการเจ็บแสบด้วย โดยอาการจะแสดงหลังจากทาไปแล้วประมาณ 2-3 นาที ถ้าคุณมีอาการแพ้หลังการใช้วุ้นว่านหางจระเข้ ก็ให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาด และเลิกใช้ทันที
ใบว่านหางจระเข้
แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร มหาวิทยาลัยมหิดล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น