วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ว่านนางคำ

ว่านนางคำ
 เป็นว่านที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับของข่า และขิง และมีลักษณะคล้ายกับขมิ้น แต่ใบจะกว้าง และใหญ่กว่า และมีแถบแดงที่ขอบ และเส้นกลางใบ เป็นว่านที่นิยมนำหัวว่านมาใช้ทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงาม เครื่องสำอาง รวมถึงใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาโรคต่างๆ
อนุกรมวิธาน
Kindom : Planatae
Order : Zingiberales
Family : Zingiberacaea
Genus : Curcuma
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Curcuma aromatica Salisb.
• ชื่อพ้อง : C. zedoaria Roxb.
• ชื่อท้องถิ่นไทย :
– ว่านนางคำ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ว่านนางคำมีลำต้นแท้เป็นหัวใต้ดินแตกออกเป็นแง่ง ส่วนลำต้นที่มองเห็นเหนือดินจะเป็นส่วนของกาบใบ และใบ ที่มักเรียกหรือเข้าใจกันทั่วไปว่า ลำต้น โดยหัวหรือลำต้นแท้มีลักษณะค่อนข้างกลมเป็นแง่งยาว มีเปลือกหุ้มสีน้ำตาลอมเทา เนื้อด้านในมีเหลืองอ่อน เนื้อมีกลิ่นหอม มีรสฝาด หัวว่านางคำจะแตกแง่งออก 2-5 แง่ง เพื่อเติบโตเป็นลำต้นใหม่ ซึ่งแง่งนี้จะใช้สำหรับการแยกแง่งปลูก
ว่านนางคำ
ขอบคุณภาพจาก www.nanagarden.com
ใบ
ว่านนางคำ เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว แตกใบออกจากหัวใต้ดิน 5-8 ใบ ใบมีสีเขียวสด ใบมีกาบใบเรียงซ้อนกันแน่นทำให้คล้ายลำต้น กาบใบมีลักษณะสีเขียวอมขาว กาบใบแต่ละอันยาวประมาณ 20-30 ซม. ถัดมาเป็นแผ่นใบหรือใบที่มีลักษณะเป็นรูปหอก กว้างประมาณ 10-15 ซม. ยาวประมาณ 40-70 ซม. แผ่นใบเรียบ ปลายใบเรียวแหลม ท้องใบด้านล่างมีขนปกคลุม มีเส้นใบมองเห็นชัดเจน มีเส้นกลางใบ และขอบใบออกสีแดง
ใบว่านนางคำ
ขอบคุณภาพจาก www.banwanlapa.com
ดอก และเมล็ด
ดอกว่านนางคำจะออกเป็นช่อ มีลักษณะคล้ายกับดอกกระเจียว มีช่อดอกยาว 5-8 ซม. ดอกที่เรามองเห็นจะประกอบด้วยใบประดับเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ ใบประดับมีสีขาวชมพู ปลายใบประดับมีสีขาวอมเขียว ภายในซอกของใบประดับจะเป็นที่อยู่ของดอกที่มีกลีบดอกเป็นสีขาวอมชมพูแทรก อยู่ในแต่ละซอกของใบประดับ
ดอกว่านนางคำจะเริ่มแทงออกในช่วงต้นฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงเริ่มเติบโตอีกครั้งหลังจากทิ้งใบในช่วงฤดูแล้ง และหลังจากแทงดอกออกแล้ว ส่วนของใบก็จะเริ่มแทงขึ้นมาแทน ก่อนดอกจะเหี่ยวลง และใบเริ่มแทงออกมาจำนวนมากขึ้นแทน
เพิ่มเติมจาก รังว่านปากช่อง (1)
ประโยชน์ว่านนางคำ
1. สารสกัดว่านนางคำใช้เป็นส่วนผสมของครีมบำรุงผิว ทั้งในผลิตภัณฑ์ในประเทศ และต่างประเทศ
2. สารสกัดจากว่านางคำใช้เป็นส่วนผสมของยาลดกรด
3. ผงจากว่านนางคำใช้เป็นส่วนผสมของแชมพูสระผม
4. หัวสดหรือผงผสมน้ำนำมาประยุกต์ใช้สำหรับกำจัดเห็บ เหาในคน และสุนัข
5. หัวว่านนางคำนำมาฝานเป็นแผ่นบางๆ และตากแห้งเพื่อทำผงว่านนางคำ เนื้อผงละเอียด มีสีเหลืองม่น
6. ผงว่านางคำนิยมใช้ผสมในอาหารเพื่อให้อาหารมีสีเหลือง ดับกลิ่นคาว และมีกลิ่นหอม ทำให้อาหารน่ารับประทานมากขึ้น
7. ผงว่านางคำใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางต่างๆ
8. หัวสดหรือผงว่านางคำนำต้มย้อมผ้าได้สีเหลืองขี้ม้า
8. หัวว่านนางคำนำมาสกัดน้ำมันหอมระเหยสำหรับผสมในเครื่องสำอาง และยารักษาโรค
9. น้ำมันว่านนางคำใช้เป็นส่วนผสมของน้ำหอม และใช้เป็นน้ำมันนวดร่างกายตามสปาต่างๆ
10. ว่านนางคำ นอกจากจะนิยมปลูกเพื่อใช้ประโยชน์จากหัวแล้ว บางคนยังนิยมปลูกเพื่อเป็นไม้มงคลที่จะช่วยป้องกันสัตว์ร้ายเข้าบ้าน ป้องกันสิ่งอัปมงคลต่างๆ
ผงว่านนางคำ
ขอบคุณภาพจาก www.chakkrawatherb.com
สารสำคัญที่พบ
– Pinene
– Sabinene
– Linalool
– Caryophyllene
– α-phellandrene
– 1,8-cineole
– C8-aldehyde
– Methyl hatanone
– Cucuminoid (ให้สารสีเหลืองแก่หัวว่าน)
– Diarylheptanoids
– Camphor
– Borneol และIsoborneol
– Germacrone
– Geranoil
– Curzerenone
– Myrcene
ที่มา : Sukuntala Behura, (2002)(2)
สรรพคุณว่านนางคำ
ราก นำมาต้มน้ำดื่ม
– ใช้เป็นยาขับเสมหะ
– ช่วยเจริญอาหาร
– แก้โรคหนองใน
หัวต้มน้ำดื่ม
– แก้อาการปวดท้อง แน่นท้อง
– ช่วยเจริญอาหาร
– ต้าน และยับยั้งเซลล์มะเร็ง
นำหัวมาฝน/ต้มน้ำใช้ภายนอก
– ใช้ทารักษาผดผื่น ภูมิแพ้ และช่วยลดอาการคัน
– ใช้ต้มน้ำอาบรักษาโรคผิวหนัง
– ฝนให้ละเอียด นำมาประคบรักษาแผลติดเชื้อ แผลเป็นหนอง
– นำมาผสมน้ำ ใช้ทาผิว ช่วยให้ผิวเต่งตึง และช่วยขัดเซลล์ผิว
– ใช้สระผมร่วมกับแชมพู หรือ นำมาชโลมผมทิ้งไว้ 30 นาที ก่อนล้างออก ซึ่งจะช่วยรักษารังแค รักษาอาการคันศรีษะ รวมถึงช่วยกำจัดเหา
การปลูกว่านนางคำ
ว่านนางคำนิยมขยายพันธุ์ด้วยการแยกหน่อ ไม่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด เนื่องจาก ดอกของว่านนางคำไม่ค่อยติดเมล็ด ด้วยการใช้แง่งที่แตกออกจากหน่อมาแยกปลูก
การเตรียมดิน
การปลูกว่านนางคำเพื่อการค้าจำเป็นต้องปลูกในแปลงขนาดใหญ่ ก่อนปลูกจะเตรียมดิน ดังนี้
– ไถพรวนดิน 2 ครั้ง ก่อนไถครั้งที่ 2 ให้รองพื้นด้วยปุ๋ยคอก 2-4 ตัน/ไร่ และปุ๋ยสูตร 15-15-15 จำนวน 20 กิโลกรัม/ไร่
– ไถขุดร่องตามแนวยาวของแปลง ลึก 8-12 ซม. ระยะห่างระหว่างแถว 60 ซม.
การปลูก
– ให้ปลูกในช่วงต้นฤดูฝน ช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน
– นำแง่งวางเรียงในร่อง ระยะห่างระหว่างหัว ประมาณ 30-40 ซม.
– เกลี่ยกลบดินด้วยจอบให้คลุมทั่วหัว
– รดน้ำตามแนวปลูกให้ชุ่ม
การรดน้ำ
– ในระยะแรกหลังการปลูกจนถึงเริ่มจนถึงเหง้าแตกหน่อ 5-10 ซม. จำเป็นต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 2 วัน/ครั้ง โดยเฉพาะในระยะแรกหลังการปลูกจนถึงเริ่มแตกหน่อ
– การปลูกในช่วงฤดูฝนจะไม่ค่อยให้น้ำมากนัก เพียงอาศัยน้ำฝนก็เพียงพอ แต่จะให้ในบางครั้งที่ฝนทิ้งช่วง ประมาณ 2 วัน/ครั้ง
การกำจัดวัชพืช
– ให้ใช้จอบถากกำจัดวัชพืชในทุกๆ 2-3 เดือน ก่อนถึงฤดูหนาว
การใส่ปุ๋ย
– หลังที่ต้นเริ่มแตกหน่อ 5-10 ซม. ให้หว่านด้วยปุ๋ยคอก 1-2 กำ/ต้น ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ประมาณ 50-100 กรัม/ต้น หรือ 3 ต้น/กำมือ
– ใส่ปุ๋ยคอกอีกครั้ง เมื่ออายุการปลูก 3 และ6 เดือน และครั้งสุดท้ายในช่วงเดือนกันยายนให้ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-12-24 อัตราเดียวกัน
การเก็บหัว
หัวว่านนางคำสามารถเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 8-10 เดือน หรือจะเก็บเกี่ยวหัวได้เมื่อใบเริ่มเหี่ยวแล้ว ซึ่งจะอยู่ในช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคม
สำหรับการปลูกเพื่อไว้ใช้ในครัวเรือนมักปลูกเพียงไม่กี่ต้นในสวนหรือ พื้นที่ว่าง ด้วยการขุดพรวนดิน และกำจัดวัชพืชก่อน จากนั้น ให้ขุดหลุม และรองพื้นด้วยปุ๋ยคอก 2-3 กำมือ/หลุม พร้อมคลุกผสมกับดินให้เข้ากัน แล้วค่อยนำหัวลงปลูก ซึ่งการปลูกลักษณะนี้จะไม่ค่อยดูแลพิถีพิถันนัก มักปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติก็สามารถเก็บหัวได้ในช่วงท้ายปีเช่นกัน แต่ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝนเป็นสำคัญ
นอกจากการปลูกในแปลงดินแล้ว บางท่านยังนิยมปลูกในกระถางด้วย เพราะช่วงออกดอกจะใช้เป็นไม้ประดับได้ด้วย โดยการปลูกในกระถางนั้น ให้ผสมดินกับวัสดุอิทรีย์จำพวกแกลบดำ ปุ๋ยคอก หรือ ขุยมะพร้าว อัตราส่วนที่ 1:2
เอกสารอ้างอิง
1. รังว่านปากช่อง. ชุมนุมว่านยา และไม้มงคล หน้า 208.
2. Sukuntala Behura, 2002. Major constituents in leaf essential oils of Curcuma longa L

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น