บรมครูแพทย์แผนไทย หมอชีวกโกมารภัจจ์
แพทย์หลวงประจำราชสำนักกรุงราชคฤห์
แพทย์หลวงประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้า
เรียบเรียงโดย แพทย์หลวงประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้า
นายประกิจ เจียรไกร
ในบรรดาบรมครูแพทย์ในอดีต ที่ได้รับการเคารพนับถือกราบไหว้บูชาจากลูกศิษย์มาทุกยุคทุกสมัยเห็นจะไม่มีท่านผู้ใดเสมอเทียมท่านบรมครูแพทย์ชีวกโกมารภัจจ์ พวกเราแพย์แผนไทยในปัจจุบัน ควรน้อมนำเอามาเป็นแบบอย่างในการดำรงวิชาชีพ ให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคมส่วนรวม เรื่องราวของบรมครูแพทย์มีเล่าไว้ใน "จีวรขันธกะคัมภีร์พระวินัยปิฎก" ว่าในราชสำนักกรุงราชคฤห์ในรัชกาลพระเจ้าพิมพิสาร และพระเจ้าอชาตศัตรู มีหมอที่ชำนาญทางยาและทางผ่าตัดท่านหนึ่ง ชื่อว่า หมอชีวก โกมารภัจจ์ เป็นหมอประจำราชสำนัก และเป็นหมอ ประจำพุทธสำนักด้วย มีประวัติดังนี้
ปฐมวัย
บรมครูแพทย์ ชีวกโกมารภัจจ์ ถือกำเนิดที่กรุงราชคฤห์ เมืองหลวงของแคว้นมคธ
เป็นบุตรของนางคณิกา (หญิงงามเมือง) ชื่อ นางสาลวดี
ด้วยความจำเป็นแห่งอาชีพ เมื่อนางให้กำเนิดทารกน้อยแล้ว
จึงให้คนรับใช้นำเด็กทารกใส่ตะกร้าไปทิ้งที่กองขยะในเวลากลางคืน
พอรุ่งเช้าเจ้าชายอภัย โอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าพิมพิสารเสด็จผ่านมา
ได้ทอดพระเนตรเห็นฝูงกาจับล้อมกองขยะ
จึงให้มหาดเล็กที่ตามเสด็จมาด้วยเข้าไปดู เมื่อทรงทราบว่าเป็นเด็กทารก
จึงทรงรับสั่งถามมหาดเล็กว่าเด็กยังมีชีวิตอยู่หรือไม่
มหาดเล็กทูลว่า ยังมีชีวิตอยู่ จึงโปรดให้นำไปให้แม่นมเลี้ยงไว้ในวัง
และเหตุที่ทรงได้รับคำตอบว่า ยังมีชีวิตอยู่
ทารกนั้นจึงได้ชื่อว่า “ชีวก”
และเพราะเหตุที่เป็นผู้ซึ่งเจ้าชายเลี้ยงไว้
จึงมีสร้อยนามว่า “โกมารภัจจ์” (ผู้ซึ่งพระราชกุมารเลี้ยง)
การศึกษา
เมื่อชีวกเจริญวัยถึงอายุพอที่จะเล่าเรียนได้
จึงเดินทางไปศึกษาวิชาแพทย์กับอาจารย์ท่านหนึ่งที่เมืองตักกะษิลา
เมืองหลวงแห่งแคว้นคันธาระ ศึกษาอยู่ 7 ปีจึงสำเร็จ
วิธีที่อาจารย์จะสอบความรู้ว่าศิษย์คนใดจะออกไปเป็นหมอได้หรือยัง
ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของอาจารย์เฉพาะหมอชีวกอาจารย์สอบโดยสั่งว่า
“ชีวก เธอจงเอาเสียมเล่มนี้ ออกไปตรวจดูบรรดาสมุนไพรรอบกุฏินี้ โดยรัศมี 1 โยชน์ ให้ตลอด ถ้าพบต้นไม้อะไรที่ไม่เป็นยา จงเอามาให้ฉันดู”
ชีวก ปฏิบัติตามคำสั่งของอาจารย์ ตรวจตราหาต้นไม้ที่ไม่เป็นยา
ตรวจทุกต้นก็เป็นยาได้ทั้งนั้น หาไม่พบ
จึงเดินมือเปล่ากลับมาบอกอาจารย์
อาจารย์จึงบอกว่า “เธอได้สำเร็จการศึกษา มีวิชาพอเลี้ยงชีพได้แล้ว”
เท่ากับประสาทปริญญาและออกใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะให้เป็นหมอไปในตัวเสร็จ
การประกอบวิชาชีพ
หลังสำเร็จการศึกษา หมอชีวกได้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์
รักษาคนไข้ครั้งแรกที่เมืองสาเกต
โดยเข้ารักษาภรรยาเศรษฐีคนหนึ่ง ซึ่งป่วยเป็นโรคปวดศีรษะมา 7 ปี
หมดค่าหมอไปมากมายก็รักษาไม่หาย
หมอชีวกทำการรักษาโดยเอาเนยเหลว 1 ประสาร (1 ฟายมือ)
ต้มเข้ากับยาต่าง ๆ เสร็จแล้วเอายากรอกเข้าทางจมูกคนไข้
ปรากฏว่ากรอกครั้งเดียวเท่านั้น ภรรยาเศรษฐีก็หายจากอาการปวดศีรษะมา 7 ปี
ครอบครัวของเศรษฐีให้รางวัลเป็นเงินถึง 16,000 กหาปณะ (เหรียญเงินโบราณอินเดีย)
พร้อมทาสทาสีและรถม้า เพื่อใช้เดินทางกลับกรุงราชคฤห์
เมื่อกลับถึงกรุงราชคฤห์ หมอชีวกได้นำเงินและของรางวัลทั้งหมดไปถวายเจ้าชายอภัย
เป็นค่าปฏิการคุณที่ได้ทรงเลี้ยงตนมา
แต่เจ้าชายอภัยไม่ทรงรับ โปรดให้หมอชีวกเก็บรางวัลนั้นไว้เป็นของตนเอง
และโปรดให้หมอชีวกปลูกสร้างบ้านอยู่ในวังของพระองค์
ต่อมาพระเจ้าพิมพิสารทรงพระประชวร เป็นฝีคัณฑสูตร (คือฝีใด ๆ ที่เกิดตามริมขอบทวารหนัก)
ฝีแตกแล้วกลายเป็นแผลลำราง (FISTULA) เป็นเรื้อรังมานาน หมอชีวกพิจารณาพระโรคโดยละเอียดแล้ว จึงถวายการรักษาโดยใช้น้ำมันยาชนิดหนึ่งใส่ ไม่ช้าแผลลำรางของพระองค์ก็หายเป็นปกติ
จึงพระราชทานสตรีชาววัง 500 นาง แต่งเครื่องประดับครบครันเป็นรางวัล
หมอชีวกไม่รับ ขอให้ทรงถือว่าเป็นหน้าที่ของตนเท่านั้น พระเจ้าพิมพิสารจึงโปรดให้หมอชีวกเป็นแพทย์หลวงประจำพระองค์ และเป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้า หมอชีวกได้รักษาโรคร้ายสำคัญหลายครั้ง เช่น ผ่าตัดรักษาโรคในสมองของเศรษฐีกรุงราชคฤห์ ดึงเอาหนอนออกมาได้ 2 ตัว
ผ่าตัดหน้าท้องให้ลูกเศรษฐี กรุงพาราณสี ที่ชอบหกคะเมนตีลังกา จนลำไส้เกิดบิดกันขึ้น (VOLVULUS) รักษาอาการประชวรของพระเจ้าจัณฑปัชโชติผู้ครองกรุงอุชเชนี
ซึ่งประชวรเป็นกาฬสิงคลี หรือ ดีซ่าน (JAUNDICE) และถวายการรักษาแด่พระพุทธเจ้าในคราวที่พระบาทห้อพระโลหิต เนื่องจากเศษหินจากก้อนศิลาที่พระเทวทัตกลิ้งลงมาจากภูเขา
เพื่อหมายปลงพระชนม์ชีพ และได้ถวายพระโอสถประจุถ่ายพระกายแด่พระพุทธเจ้า
การกุศล
หมอชีวกเมื่อสมบูรณ์ด้วยลาภสักการะ ก็ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท
มีจิตศรัทธา ในพระพุทธเจ้า ได้จัดสร้างวัดในสวมมะม่วงของตนถวายให้พระพุทธเจ้า
เรียกกันว่า “ชีวกัมพวัน” (อัมพวันของหมอชีวก) เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูเริ่มน้อมพระทัยมาทางศาสนา
หมอชีวกก็เป็นผู้แนะนำให้เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
ผลงานทางการศึกษา
หมอชีวกเมื่อมีประสบการณ์ทางการแพทย์ของตนมากแล้ว ท่านได้เรียบเรียงตำราแพทย์ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ เช่น พระคัมภีร์โรคนิทาน พระคัมภีร์จลนะสังคหปกรณ์
ปัจฉิมวัย
เมื่อพระพุทธองค์ใกล้จะเสด็จสู่พระปรินิพพาน
หมอชีวกในฐานะที่เป็นแพทย์ประจำพระองค์
ได้อยู่เฝ้าพระอาการพร้อมกับพระอานนท์เพียงสามท่าน
พระพุทธองค์ไม่ทรงรับสั่งถึงเรื่องการป่วยเจ็บว่าเกิดจากอะไร
หมอชีวกขณะนั้นแม้จะอายุล่วงเข้าสู่วัย 70 ปีแล้ว แต่สติยังดีอยู่
เมื่อพบเห็นพระอาการของพระองค์เช่นนั้น ก็รู้สึกวิตกกังวลเป็นที่สุด
จึงได้ประกอบพระโอสถขึ้นมาเม็ดหนึ่ง หวังให้พระองค์เสวย
แต่พระองค์ไม่ยอมเสวย
หมอชีวกได้นำยาเม็ดนั้นไปจำเริญที่บ่อ
เพราะผู้ใดจะใช้ยานี้ไม่ได้
แต่เป็นยาสำหรับพระพุทธองค์ ท่านจึงไปจำเริญเสียในน้ำ
น้ำในบ่อเดือดขึ้นมา สูงขึ้นมาเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์
หลังจากจัดการเรื่องพระบรมศพของพระพุทธองค์เสร็จแล้ว
หมอชีวกได้กลับกรุงราชคฤห์
แล้วเข้าไปอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่งในเขาคิชฌกูฏ ทางทิศตะวันออก
ถ้ำนั้นชื่อว่า “ถ้ำเขาคิชฌกูฏ” และไม่ได้ออกมาอีกเลย
บรรณาณุกรม
1.ขุนนิทเทสสุขกิจ, อายุรเวทศึกษา,
(กทม.: โรงพิมพ์พร้อมจักรการพิมพ์, 2516), หน้า 48 – 52
2.พระครูวินัยธรสุเทพ อกิญจโน, ตำรายาแผนโบราณฉบับคัดจากสมุดข่อย,
(กทม.: สำนักพิมพ์มหรรณพ, 2540) หน้า (5) – (8)
3.อาจารย์บุญสู ไชยจันลา, ชีวะประวัติของท่านบรมครูเรื่องบรมครูแพทย์ชีวกโกมารภัจ,
(หนังสืออนุสรณ์คณะแพทย์แผนโบราณสถานพยาบาลบรรเทาทุกข์โบราณภาคเหนือ ครบรอบ 7 ปี, เชียงใหม่.: โรงพิมพ์ธาราทองการพิมพ์, 2514) หน้า 38 – 52
4.องสรภาณมธุรส, เจ้าอาวาสวัดสมณานัมบริการ, บันทึกประวัติชีวิตตอนบั้นปลาย ของบรมครูแพทย์ชีวกโกมารภัจ. ครั้งที่ 1,
(หนังสืออนุสรณ์คณะแพทย์แผนโบราณสถานพยาบาลบรรเทาทุกข์โบราณภาคเหนือ ครบรอบ 7 ปี, เชียงใหม่.: โรงพิมพ์ธาราทองการพิมพ์, 2514) หน้า 53 – 60
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น