วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2559

การอบสมุนไพรและข้อห้ามในการอบ

 

การอบสมุนไพร

        การอบสมุนไพรหรือการเข้ากระโจมเป็นสิ่ง ที่เป็นภูมิปัญญาของไทยที่สืบทอดกันมาหลายยุคสมัย ที่ลูกหลานไทยควรอนุรักษ์ไว้ เพราะมีประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้ที่นำไปใช้  การอบสมุนไพรหรือการเข้ากระโจม คือ การอบตัวด้วยไอน้ำที่มาจากสมุนไพร เพราะเชื่อว่าเป็นวิธีกำจัดมลทินต่าง ๆ ที่ปรากฏบนผิวเนื้อให้หมดไป กำจัดน้ำเหลืองเสีย และเป็นการบำรุงผิวหน้าไม่ให้เกิดฝ้า และบำรุงผิวพรรณให้สดใส สมุนไพรที่มักใช้กัน ได้แก่ เปลือกส้มโอ ใบส้มป่อย ว่านน้ำ ตะไคร้ ผักบุ้งล้อม มะกรูด ใบมะขาม ไพล เกลือหยิบมือ แล้วนำสมุนไพรต้มรวมกันในหม้อให้เดือดมีไอพุ่ง แล้วต่อท่อไม้ไผ่เข้าไปในกระโจมหรือยกหม้อยาที่ต้มเดือดพล่านแล้วเข้าไปตั้ง ไว้ในกระโจมก็ได้ แล้วให้ผู้เข้ากระโจมใช้ผ้าคลุมตัวในลักษณะเหมือนกระโจมเปิดแย้มฝาหม้อให้ไอ ค่อย ๆ ออกมารมตัวและให้ลืมตาและสูดหายใจเอาไอน้ำเข้าไป สมุนไพรจะทำให้สายตาดีและหายใจโล่ง การเข้ากระโจมมักทำในตอนเช้า ใช้เวลารวมประมาณครึ่งชั่วโมงหรือนานกว่านั้นได้ยิ่งดี จนเหงื่อไหลท่วมตัวราวอาบน้ำ จึงออกจากกระโจมได้ การเข้าอบสมุนไพรแบบนี้ เรียกว่า เข้ากระโจมยา ถ้าหาอะไรไม่ได้ก็ใช้อิฐเผาไฟให้ร้อนจนแดง แล้วนำเข้าไปไว้ในกระโจมต่างหม้อยา จากนั้น ใช้น้ำเกลือราดลงบนอิฐให้เกิดไอพุ่งขึ้นมารมตัว เรียกว่า เข้ากระโจมอิฐ
        การเข้ากระโจม คล้ายอบตัวด้วยไอน้ำก่อนเข้ากระโจมจะทาตัวด้วยเหล้า การบูร และว่านนางคำ อาจทำเป็นท่อไม้ไผ่ต่อไอน้ำจากหม้อที่ต้มเดือดสอดเข้าในกระโจม หรือยกหม้อยาที่กำลังเดือดเข้าไปในกระโจมด้วย และค่อย ๆ เปิดทีละน้อยให้ไอขึ้นรมหน้า สมุนไพรที่ใช้ในการต้มมี 3  กลุ่ม คือ 
กลุ่มที่ 1 เป็นสมุนไพรที่มีรสเปรี้ยว ได้แก่ ใบมะขาม มะกรูดผ่าซีก ใบและฝัก ส้มป่อย สมุนไพรกลุ่มนี้จะเป็นกรดอ่อน ๆ ช่วยชำระล้างสิ่งสกปรกที่ติดอยู่ตามผิวหนังให้ลื่นออกง่าย มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคบางชนิด ทำให้ผิวหนังสะอาด และต้านทานต่อเชื้อโรคได้
กลุ่มที่ 2 สมุนไพรที่มีกลิ่นหอม ได้แก่ ใบตะไคร้ ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน ไพล ผิวมะกรูด เปราะหอม ว่านน้ำ ใบหนาด กลุ่มนี้มีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งจะช่วยให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ช่วยลดอาการหวัด คัดจมูก นอกจากนี้ ใบตะไคร้และเหง้าขมิ้นมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราและแบคทีเรีย ส่วนไพลมีฤทธิ์ลดอาการบวมอักเสบได้
กลุ่มที่ 3 ได้แก่ พิมเสน การบูร มีสรรพคุณทำให้รู้สึกสดชื่น ช่วยบำรุงหัวใจ และรักษาโรคผิวหนังบางชนิด
        จากสมุนไพรทั้ง 3 กลุ่มนี้ จะเห็นได้ว่าการอบสมุนไพรทำให้การไหลเวียนของเลือดเพิ่มมากขึ้น ช่วยลดการอักเสบ บวม อาการปวดของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย ทำให้รูขุมขนขยายออก สิ่งสกปรกถูกขับออกมาพร้อมกับเหงื่อ และสมุนไพรที่มีรสเปรี้ยวจะช่วยชะล้างสิ่งสกปรกเหล่านั้นให้ลื่นหลุดออกจาก ผิวหนังได้ง่าย ช่วยให้ผิวหนังมีความต้านทานต่อเชื้อโรคได้ดีขึ้น ทำให้ข้อที่ฝืดแข็ง ปวด ลดคลายความปวดและฝืดลง ทำให้เหงื่อถูกขับ กลิ่นหอมของสมุนไพรช่วยทำให้รู้สึกสดชื่นแจ่มใส คลายความเครียด และบรรเทาอาการหวัดคัดจมูก
ปัจจุบันการอบสมุนไพรมี 2 แบบ ได้แก่การอบแห้งและการอบเปียก โดย การอบแห้งเรียกทับศัพท์ว่า “ เซาว์น่า ” คล้ายคลึงกับการอยู่ไฟของไทย ซึ่งนิยมในต่างประเทศ โดยใช้ความร้อนจากถ่านหินบนเตาร้อน ส่วน การอบเปียกเป็น วิธีที่คนไทยนิยมและแพร่หลายในปัจจุบัน โดยพัฒนาจากการเข้ากระโจม มาเป็นห้องอบสมุนไพรที่ทันสมัยขึ้น สามารถให้บริการได้ครั้งละหลายคน โดยการใช้หม้อต้มสมุนไพรที่มีท่อส่งไอน้ำเข้าไปภายในห้องอบ การอบสมุนไพรของไทยนั้นเป็นการอบไอน้ำร้อน ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งในการขับเหงื่อเพื่อรักษาโรคเฉียบพลัน  ฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยเรื้อรัง และมารดาหลังคลอด รวมทั้งช่วยส่งเสริมสุขภาพให้แก่ประชาชนทั่วไปด้วย การเข้ากระโจมอบไอน้ำไม่ควรทำเมื่อรับประทานอาหารอิ่มใหม่ ๆ หรือขณะกำลังหิว และทำในที่ที่ไม่มีลมพัดต้องเอาน้ำมันมาทาตัวเสียก่อน วิธีการเข้ากระโจมนั้นควรค่อย ๆ เพิ่มความร้อนให้มากขึ้นจนเพียงพอกับความต้องการ     และเมื่อจะเลิกก็ลดความร้อนให้    ค่อย ๆ น้อยลงจนเท่าความร้อนปกติของร่างกาย แล้วจึงออกจากกระโจม เพราะการนำเอาผู้ป่วยเข้ากระโจมร้อนทันที และเมื่อเอาออกก็ถูกอากาศเย็นทันทีนั้นเป็นอันตราย อาจทำให้คนช็อกได้ ในการเข้ากระโจม ควรให้ดื่มน้ำใส่เกลือเค็มเล็กน้อย ดื่มบ่อย ๆ ได้จะเป็นการดี และควรมียาแก้ลมไว้ด้วย เมื่อออกจากกระโจมก็ควรห่มผ้าให้อุ่น ๆ ไว้ก่อน เมื่อรู้สึกสบายแล้วจึงเอาผ้าห่มออก และควรอาบน้ำอุ่นชำระร่างกายด้วย เมื่อหลังอาบน้ำควรห่มผ้าและนั่งหรือนอนให้สบายสักครู่ อย่าให้ถูกลม ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีลักษณะเหนียว ๆ และ ร้อน ๆ หลังเข้ากระโจม
1. ประโยชน์ของการอบสมุนไพร
การอบสมุนไพรมีประโยชน์ ดังนี้
  1. ช่วยบรรเทาอาการหวัด คัดจมูก
  2. ช่วยบรรเทาอาการหอบหืดเรื้อรัง
  3. ทำให้ปอดขยายตัวได้ดี ระบบหายใจปลอดโปร่ง มีความคล่องตัวมากขึ้น ไม่อึดอัด
  4. ทำให้ผด ผื่น คัน และอาการอักเสบของผิวหนังหายไปได้
  5. ช่วยฆ่าเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย อันก่อให้เกิดกลากเกลื้อน ทำให้ผิวหนังเกลี้ยงเกลา มีน้ำมีนวล ไม่หมองคล้ำ
  6. ช่วยลดความดันโลหิตสูง เพราะเส้นโลหิตจะขยายออกทำให้โลหิตไหลเวียนสะดวก ผิวพรรณจึงผุดผ่อง เปล่งปลั่ง มีเลือดฝาด
  7. ช่วยฟื้นฟูผู้ที่กำลังพักฟื้น ให้กลับมาแข็งแรงเป็นปกติเร็วขึ้น กระปรี้กระเปร่า
  8. ทำให้มดลูกของมารดาหลังคลอดเข้าอู่เร็วขึ้น ช่วยขับน้ำคาวปลา การอบสมุนไพรจะทำให้มารดาหลังคลอดสุขภาพดีขึ้น แต่ต้องทำหลังการคลอดประมาณ 10 วัน จึงจะได้ผลดี ผิวพรรณจะผุดผ่องเป็นยองใยยิ่งกว่าสาว ๆ เสียอีก เพราะจะทำให้เกิดเลือดฝาดที่มีสีแดงบริสุทธิ์นั้นเอง
  9. ทำให้ใบหน้านิ่มนวลเกลี้ยงเกลา ผิวหน้าปราศจากความมันและความหยาบกร้าน
  10. ช่วยรักษาสิวฝ้า ขจัดริ้วรอยเหนี่ยวย่นบนใบหน้า ลบรอยตีนกา ริ้วรอยที่หัวคิ้ว ขอบตา และหน้าผาก
  11.  ช่วยแก้อาการเหน็บชา อาการชาตามปลายเท้า ปลายนิ้วมือ แขน และขา
  12.  ช่วยทุเลาอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต และทำให้หายขาดได้
  13.  ช่วยขจัดความเมื่อยล้า บรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เส้น และเอ็นให้เบาบางลง จนกระทั่งเป็นปกติ
  14.  ลดไขมันส่วนเกินของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไขมันส่วนเกินบริเวณหน้าท้อง และส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
2. ตัวอย่างสูตรตัวยาอบสมุนไพร สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ 4 ขนาน ดังนี้
สูตรที่ 1 
  1. ใบมะกรูด
  2. ใบมะขามแก่
  3. ต้นตะไคร้ทุบแตก ตัดเป็นท่อนสั้น
  4. หอมแดงทุบแตก
  5. ไพลหั่นเป็นแว่น
  6. ใบส้มป่อย
  7. การบูรบดละเอียด 
สูตรที่ 2   
  1. ใบส้มโอ
  2. ใบมะขามแก่
  3. ใบมะกรูด
  4. ไพลทุบแตก
  5. เหง้าข่าแก่ทุบแตก
  6. ใบกระเพราแดง
  7. การบูรบดละเอียด
สูตรที่ 3
  1. ว่านน้ำ (ถอนมาทั้งราก ลำต้น ใบ)   
  2. ผักหนาม (ถอนมาทั้งต้น)
  3. ใบมะกรูด
  4. หอมแดง
  5. ต้นตะไคร้ทุบ ตัดเป็นท่อนสั้น
  6. ส้มป่อย
  7. การบูรบดละเอียด  
สูตรที่ 4
  1. เหง้าไพลทุบแตก
  2. เหง้าขมิ้นชันทุบแตก
  3. เหง้าข่าแก่ทุบแตก
  4. ใบมะขามแก่
  5. ดอกดีปลี
  6. รากเจตมูลเพลิงแดง
  7. หอมแดงทุบแตก
  8. ส้มป่อย
  9. ตะไคร้ทุบแตก
  10. ใบส้มโอ
  11. ใบกระเพราแดง
  12.  ต้นทองพันชั่งทั้งรากสับชิ้นเล็ก ๆ
  13. การบูรบดละเอียด
3. วิธีปรุงส่วนผสม
ตัวอย่างในสูตรที่ 1 นำสมุนไพรทั้งหมดล้างให้สะอาด จากนั้นให้เอาใบมะกรูดมาเด็ด    และฉีกเป็นชิ้น ๆ  ต้นตะไคร้เอามาทุบและหั่นเป็นท่อน ๆ ประมาณ 1 นิ้ว เพื่อให้ต้มได้ง่ายขึ้น รูดใบมะขามแก่ แล้วขยี้ใส่ลงไปในหม้อต้มทั้งใบและก้าน ขยี้ใบส้มป่อย ใส่ลงในหม้อต้มทั้งใบและก้าน เอาไพลมาหั่นเป็นแว่นแล้วทุบ ทุบหอมแดงให้แตก ใส่ลงไปในหม้อต้ม ส่วนการบูรนั้น ให้โรยลงไปเวลาที่น้ำสมุนไพรกำลังเดือดจัด เพื่อให้การบูรส่งกลิ่นหอม และรักษาคุณประโยชน์ของการบูรไว้อย่างเต็มที่ ไอร้อนน้ำร้อนจากการต้มสมุนไพรนี้ จะนำมาใช้ประโยชน์ในการอบสมุนไพรเพียงครั้งเดียวเท่านั้น หากต้องการทำเป็นสมุนไพรแห้ง จะต้องนำสมุนไพรไปตากแดด หรืออบด้วยความร้อนให้แห้งเสียก่อน แล้วจึงนำมาบดละเอียด รวมทั้งใส่การบูรที่บดจนละเอียดแล้วผสมลงไปด้วย กลิ่นหอมของการบูรจะโชยออกมาทันที จากนั้นนำไปบรรจุในถุงผ้าขาวบาง และห่อหุ้มด้วยพลาสติกอีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาจากสมุนไพรระเหยหรือระเหิดออกไปจนเสียสรรพคุณสำคัญ อันจะทำให้การใช้ยาอบสมุนไพรนี้ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร
4. วิธีอบสมุนไพร (การเข้ากระโจม)
        ปัจจุบันได้เปลี่ยนภาชนะจาก “หม้อต้มดินเหนียว” มาเป็น “หม้อหุงข้าวไฟฟ้า” แทนหรืออาจใช้หม้ออลูมิเนียมแทนได้แต่ต้องมีฝาปิดมิดชิด การต้มสมุนไพรต้องต้มสมุนไพรจนน้ำเดือดพล่าน (ระวังสมุนไพรทะลักออกมานอกหม้อต้ม) จากนั้น ยกหม้อต้มยาไปวางไว้ในกระโจมที่จะใช้อบร่างกาย โดยวางหม้อสมุนไพรไว้ตรงหน้าของผู้เข้ากระโจม เผยอปากหม้อเพียงเล็กน้อย พร้อมกันนั้นให้ใส่การบูรที่บดละเอียดแล้วลงไปในหม้อยาสมุนไพรที่กำลังเดือด จัด โดยค่อย ๆ โรยการบูรลงไปที่ละนิด ๆ กลิ่นอายของการบูรจะนำพาตัวยาสมุนไพรแพร่กระจายออกไป ช่วยให้สูดไอกลิ่นหอมของสมุนไพรเข้าปอดอย่างเต็มที่ จะรู้สึกถึงความโล่งสบายในระบบทางเดินหายใจ และสบายเนื้อสบายตัว
        การอบสมุนไพรที่เหมาะสม ควรใช้ระยะเวลาในการอบเพียง 10-15 นาที ไม่ควรมากกว่านั้น เมื่อครบตามกำหนดเวลาออกจากกระโจม และต้องปรับตัวเพื่อสัมผัสกับอากาศภายนอกและรอจนร่างกายแห้งดีแล้วจึงค่อย อาบน้ำ
ข้อห้ามในการเข้ากระโจม แม้ว่าการเข้ากระโจมหรือการอบสมุนไพรจะเกิดประโยชน์ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น แต่อาจเกิดอันตรายได้ คือ ทำให้วิงเวียน เป็นลม หมดสติ ดังนั้น จึงมีข้อควรระวังและข้อห้ามสำหรับผู้ที่จะเข้ากระโจมหรือการอบสมุนไพร ดังนี้คือ
  1. มารดาหลังคลอด 1- 2 วันไม่ควรเข้ากระโจม เนื่องจากร่างกายอ่อนแอ ควรทอดระยะออกไปประมาณ 4-5 วัน หลังคลอดให้แน่ใจว่าร่างกายแข็งแรงพอ
  2. มีอาการอ่อนเพลีย อดนอน กำลังหิวข้าว น้ำหรืออิ่มเกินไป
  3. มีอาการเป็นไข้ ตัวร้อน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ หรือกำลังคลื่นไส้อาเจียน
  4. เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคหอบหืด โรคลมชัก และโรคไต
........................................
บรรณานุกรม
กิตติชัย อนวัชประยูร. “การดูแลมารดาหลังคลอด”. เอกสารชุดโครงการเสริมสร้างอาชีพแพทย์แผนไทย.  นนทบุรี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มปป.
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2549). เอกสารการสอนชุดวิชานวดแผนไทย หน่วยที่ 1-15. นนทบุรี:  โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
หมอชาวบ้าน. (2537). “โครงการฟื้นฟูการนวดไทย”. คู่มือการนวดไทยในงานสาธารณสุขมูลฐาน. พิมพ์ครั้งที่ 6: กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น