โพธิ์
โพธิ์
ชื่อสามัญ Sacred tree, Sacred fig, Sacred fig Tree, The peepal
tree, Peepul tree, Peepul of India, Pipal tree, Pipal of India, Bo tree, Bodhi
Tree[1],[2],[3]
โพธิ์
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus religiosa L. จัดอยู่ในวงศ์ขนุน (MORACEAE)[1]
โพธิ์ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สลี (ภาคเหนือ), สี สะหลี
(ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), โพ โพธิ โพศรีมหาโพ (ภาคกลาง),
ย่อง (แม่ฮ่องสอน), ปู (เขมร), โพธิใบ เป็นต้น[1],[2],[3] ในปัจจุบันต้นโพธิ์เป็นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดปราจีนบุรี[4]
หมายเหตุ : คำว่า “โพธิ” แต่เดิมแล้วมิได้เป็นชื่อต้นไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง
หากแต่เป็นชื่อเรียกของต้นไม้ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ทรงประทับใต้ต้นไม้ต้นนั้น
ๆ และได้ตรัสรู้ ต้นโพธิ์ จึงมีความหมายว่า ต้นไม้แห่งการตรัสรู้ (โพธิ แปลว่า
เป็นที่รู้หรือเป็นที่ตรัสรู้) และยังเป็นต้นไม้ที่ชาวพุทธ พราหมณ์
และฮินดูให้ความเคารพนับถือกันอย่างสูงอีกด้วย[3]
ลักษณะของต้นโพธิ์
·
ต้นโพธิ์ มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ผลัดใบ
แตกกิ่งก้านสาขาออกเป็นพุ่มตรงส่วนยอดของลำต้น ปลายกิ่งลู่ลง กิ่งอ่อนเกลี้ยง
ตามกิ่งมีรากอากาศห้อยลงมาบ้าง ลำต้นมีความสูงประมาณ 20-30 เมตร
ลำต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-3 เมตร
และมีน้ำยางสีขาว เปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลปนเทา โคนต้นเป็นพูพอนขนาดใหญ่
โดยจัดเป็นพรรณไม้ที่มีรูปทรงของลำต้นส่วนงามชนิดหนึ่ง
ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ใช้กิ่งชำ หรือใช้กระโดงจากราก
แต่ส่วนมากแล้วจะเจริญเติบโตจากสัตว์นำพา เช่น นกมากินเมล็ดและไปถ่ายทิ้งไว้
ก็จะเกิดเป็นต้นใหม่ขึ้นมา เจริญเติบโตได้ในดินทุกชนิด ต้องการน้ำปานกลาง
พบขึ้นทั่วไปทั้งในทวีเอเชีย ปากีสถาน จีนตอนใต้ และภูมิภาคอินโดจีน
ในไทยพบในธรรมชาติน้อยมาก เข้าใจว่ากระจายพันธุ์มาจากต้นที่มีการนำมาปลูกเอง
และพบขึ้นมากตามซากอาคาร และนิยมปลูกกันทั่วไปในวัดทุกภาคของประเทศไทย[1],[2],[3]
·
ต้นโพธิ์ เป็นไม้ที่มีอายุยืนยาวมากชนิดหนึ่ง
แต่เนื่องจากมีกิ่งก้านแยกสาขาออกจากลำต้นมาก
จึงทำให้เกิดเชื้อราที่อาศัยความชุ่มชื้นจากน้ำฝนที่ขังอยู่ตามง่ามไม้
แผ่ขยายเข้าทำลายเนื้อไม้จนเป็นโพรง ซึ่งเรามักจะพบเห็นได้ในต้นโพธิ์ที่มีขนาดใหญ่และมีอายุมาก
แต่ถ้าเป็นโพรงอย่างรุนแรงก็อาจทำให้ต้นโพธิ์ตายได้เหมือนกัน[4]
·
ใบโพธิ์ ใบเป็นใบเดี่ยว
ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปใจ ปลายใบแหลมและมีติ่งหรือหางยาว
(ปลายติ่งบางใบมีความยาวมากกว่าครึ่งหนึ่งของใบ)
โคนใบมนเว้าเข้าหาก้านใบเป็นรูปหัวใจ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 8-15 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12-24 เซนติเมตร
ผิวใบเกลี้ยงเป็นมัน เนื้อใบค่อนข้างเหนียว ใบมีลักษณะห้อยลง แผ่นใบเป็นสีเขียวนวล
ๆ ส่วนยอดอ่อนหรือใบอ่อนนั้นเป็นสีน้ำตาลแดง
ก่อนใบจะร่วงหล่นจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ก้านใบยาวและอ่อน มีความยาวได้ประมาณ 8-12
เซนติเมตร มีหูใบยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร
หลุดร่วงได้ง่าย เมื่อลมพัดจะเห็นจะเห็นใบโพธิ์พลิ้วไปตามต้นใหญ่ดูสวยงาม
ส่วนปลีที่หุ้มส่วนยอดอ่อนอ่อนสีครีมหรือสีงาช้างอมชมพู[1],[2],[3]
·
ดอกโพธิ์ ออกดอกเป็นช่อกลม ๆ รวมกันเป็นกระจุกภายในฐานรองดอกรูปคล้ายผล โดยจะออกที่ตอนปลายของกิ่ง
ดอกย่อยเป็นแบบแยกเพศ ไม่มีก้าน มีใบประดับเล็กที่โคน ฐานดอกเป็นรูปทรงกลม
ดอกย่อยมีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ดอกเป็นสีเหลืองนวล และจะเจริญไปเป็นผล[2],[3]
·
ผลโพธิ์ ผลเป็นผลรวม
ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมขนาดเล็ก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.8 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูม่วง
สีแดงคล้ำ หรือม่วงดำและร่วงหล่นลงมา[1],[2]
หมายเหตุ : ต้นโพธิ์ในสกุล
Ficus จะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ
โพธิใบ (Ficus religiosa Linn.) ซึ่งกล่าวถึงในบทความนี้
และโพธิขี้นกหรือโพธิประสาท (Ficus rumphii Bl.) ข้อแตกต่างของโพธิทั้ง
2 ชนิดนี้คือ
ใบและผลของใบโพธิขี้นกจะมีขนาดเล็กกว่าใบโพธิใบมาก
ส่วนผลสุกของโพธิใบจะเป็นสีแดงคล้ำหรือสีม่วงดำ
ในขณะที่ผลสุกของโพธิขี้นกจะเป็นสีดำ[3]
สรรพคุณของต้นโพธิ์
1. ใบมีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยการนำใบแก่ 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำ 3 แก้ว
ใช้แบ่งดินก่อนอาหารเช้าและเย็น (ใบ)[2]
2. ผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้โรคหัวใจ (ผล)[4]
3. ผลมีสรรพคุณเป็นยาช่วยขับพิษ (ผล)[4]
4. เมล็ดใช้เป็นยาลดไข้ (เมล็ด)[4]
5. ใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้จับสั่นเรื้อรัง (ใบ)[2]
6. เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้เจ็บคอ (เปลือกต้น)[4]
7. ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ (ผล)[4]
8. น้ำจากเปลือกต้นใช้เป็นยาแก้ปวดฟัน รักษารากฟันเป็นหนอง
(เปลือกต้น)[2],[3],[4]
9. รากใช้เป็นยารักษาโรคเหงือก (ราก)[4]
10. ใบใช้รักษาโรคคางทูม (ใบ)[4]
11. ช่วยรักษาโรคหืด (ผล)[4]
12. ใบใช้รักษาโรคท้องผูก ท้องร่วง (ใบ)[4]
13. ลำต้น ใบมีสรรพคุณเป็นยาถ่าย (ลำต้น,ใบ)[2]
14. ผลใช้รับประทานเป็นยาระบายอ่อน ๆ และช่วยในการย่อยอาหาร (ผล)[1],[2],[3],[4]
15. เมล็ดใช้เป็นยา มีสรรพคุณช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย
และมีฤทธิ์เป็นยาระบายเช่นเดียวกับผล (เมล็ด)[1],[2]
16. เมล็ดใช้เป็นยาแก้โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (เมล็ด)[4]
17. ยางใช้รักษาริดสีดวงทวาร (ยาง)[4]
18. เปลือกต้นใช้ทำเป็นยาชงกินแก้โรคหนองใน (เปลือกต้น)[4]
19. เปลือกต้นใช้เป็นยาล้างแผล ช่วยรักษาแผลเปื่อย (เปลือกต้น)[2],[4]
20. เปลือกต้นมีสรรพคุณช่วยสมานบาดแผล ห้ามเลือด ทำให้หนองแห้ง
(เปลือกต้น)[2],[4]
21. ลำต้น ใบใช้เป็นยาบำบัดโรคผิวหนัง
ส่วนเปลือกต้นใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนัง (ลำต้น,ใบ,เปลือกต้น)[2],[4]
22. ยางใช้เป็นยารักษาโรคหูด (ยาง)[4]
23. ยางมีสรรพคุณเป็นยาแก้เท้าเป็นหน่อ แก้เท้าเป็นพยาธิ (ยาง)[2]
24. ช่วยแก้กล้ามเนื้อช้ำบวม (เปลือกต้น)[4]
25. รากใช้เป็นยารักษาโรคเก๊าท์ (ราก)[4]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของต้นโพธิ์
·
สารสำคัญที่พบ ได้แก่ amyrin,
bergapten, bergaptol, campesterol, fucosterol,28-iso, n-hentriacontane,
hexacosan-1-ol, lanosterol, lupen-3-one, lupeol, n-nonacosane, octacosan-1-ol,
oleanolic acid methyl ester, pelargonidin-5, 7-dimethyl ether 3-O-α-L-rhamnoside, β-sitosterol, solanesol, stigmasterol[2]
·
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งระดับน้ำตาลในเลือดสูง ลดระดับน้ำตาลในเลือด ต้านแบคทีเรีย
ต้านเชื้อจุลชีพ ต้านเชื้อรา[2]
·
เมื่อปี ค.ศ.1963 ที่ประเทศอินเดีย ได้ทำการทดลองใช้สารสกัดจากใบโพธิ์
ผลการทดลองพบว่าสารสกัดดังกล่าวสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลองได้[2]
·
จากการทดสอบความเป็นพิษและรายงานผลการทดลอง
ด้วยการฉีดสารสกัดด้วยเอทานอลและน้ำ ในอัตราส่วน 1:1 เข้าช่องท้องของหนูถีบจักรทดลอง
พบว่าในขนาดสูงสุดที่หนูทนได้คือ 500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
และพบว่ามีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ด้วย[2]
ประโยชน์ของต้นโพธิ์
1. ใบอ่อนใช้รับประทานเป็นอาหาร ใช้เลี้ยงหนอนไหม
นอกจากนี้ใบโพธิ์ยังมีคุณค่าทางโภชนาการซึ่งสามารถนำมาใช้ในสูตรอาหารในการทำปศุสัตว์ได้
และยังพบด้วยว่าใบมีปริมาณของโปรตีนและธาตุหินปูนสูง[1],[2]
2. ผลอ่อนใช้รับประทานเป็นอาหารได้[1]
3. ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับตามวัดวาอาราม
และยังสามารถปลูกเลี้ยงไว้เป็นไม้แคระแกรนได้ หรือปลูกตามคบไม้หรือปลูกเกาะหิน[1]
4. สำหรับชาวพุทธหรือฮินดู
จะถือกันว่าต้นโพธิ์เป็นต้นไม้ที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะมีความเกี่ยวทางศาสนา
ฉะนั้นจึงไม่มีใครนำมาปลูกไว้ตามบ้านเรือน
อีกทั้งรากของต้นโพธิ์อาจทำให้บ้านหรือตัวอาคารเกิดความเสียหายได้
จึงมีปลูกกันมากก็ตามวัดวาอารามเท่านั้น[1] (แต่บางความเชื่อก็ระบุว่า หากปลูกต้นโพธิ์ไว้เป็นไม้ประจำบ้าน
เชื่อว่าจะทำให้เกิดความร่มเย็น)
หมายเหตุ : ในปัจจุบันต้นโพธิ์ที่สำคัญที่สุดจะอยู่ที่พุทธคยา
ประเทศอินเดีย แต่จะไม่ใช่ต้นเดิมเมื่อครั้งพุทธกาล
แต่เป็นต้นที่แตกหน่อมาจากต้นเดิม เนื่องจากต้นโพธิ์ที่พระพุทธองค์เคนประทับ
ได้ถูกผู้มีมิจฉาทิฏฐิและคนนอกศาสนาโค่นทำลายไปแล้ว
แต่ด้วยบุญญาภินิหารเมื่อได้นำน้ำนมโคไปรดที่ราก จึงเกิดมีแขนงแตกขึ้นมาใหม่
และได้มีชีวิตอยู่มาอีกไม่นานก็ตายไปอีก แล้วกลับแตกหน่อขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง
ซึ่งต้นที่เหลืออยู่ในปัจจุบันก็นับเป็นต้นที่ 4 แล้ว[4]
References
1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่
5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “โพธิ์
(โพ)”. หน้า 575-576.
2. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด.
(เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “โพธิ์”. หน้า 116-117.
3. ไม้พุทธประวัติ, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “โพธิ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/homklindokmai/budhabot/budbot.htm.
[27 ส.ค. 2014].
4. ลานธรรมจักร. “โพธิญาณพฤกษา
: ต้นโพธิ์ (ต้นอัสสัตถะ)”. [ออนไลน์].
เข้าถึงได้จาก: www.dhammajak.net. [27 ส.ค.
2014].
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น