วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ขมิ้นชัน

ขมิ้นชัน
ชื่อเครื่องยา
ขมิ้นชัน
ชื่ออื่นๆของเครื่องยา

ได้จาก
เหง้าสด เหง้าแห้ง
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา
ขมิ้นชัน
ชื่ออื่น(ของพืชที่ให้เครื่องยา)
ขมิ้น(ทั่วไป) ขมิ้นแกง ขมิ้นหยวก ขี้มิ้น ตายอ สะยอ หมิ้น(ภาคใต้) ขมิ้นหัว(เชียงใหม่)
ชื่อวิทยาศาสตร์
Curcuma longa L.
ชื่อพ้อง
Curcuma domestica Valeton
ชื่อวงศ์
Zingiberaceae
ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:
           เหง้ารูปไข่ มีแง่งแขนงรูปทรงกระบอก หรือคล้ายนิ้วมือ ตรงหรือโค้งเล็กน้อย     ยาว 4-7 เซนติเมตร กว้าง 1-1.5 เซนติเมตร หนาประมาณ 1-1.8 เซนติเมตร ปลายทั้งสองข้างตัด สีภายนอกสีน้ำตาลถึงเหลืองเข้มๆ มีรอยย่นๆตามความยาวของแง่ง มีวงแหวนตามขวาง (leaf scars) บางทีมีแขนงเป็นปุ่มเล็กๆสั้นๆ หรือเห็นเป็นรอยแผลเป็นวงกลมที่ปุ่มนั้นถูกหักออกไป ผิวนอกสีเหลืองถึงสีเหลืองน้ำตาล สีภายในสีเหลืองเข้มหรือสีส้มปนน้ำตาล เป็นมัน แข็งและเหนียว เมื่อบดเป็นผงมีสีเหลืองทองหรือสีเหลืองส้มปนน้ำตาล กลิ่นหอมเฉพาะตัว รสขม ฝาด  เฝื่อน  เผ็ดเล็กน้อย


เครื่องยา ขมิ้นชัน
 
 
เหง้า ขมิ้นชันสด (แง่งที่แตกแขนงจากเหง้าหลัก)
 
 
เหง้า ขมิ้นชันสด (ส่วนเหง้าหลัก)
 

ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
           ปริมาณน้ำไม่เกิน 10% v/w  ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 2% w/w  ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 8% w/w  ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 1.0% w/w  ปริมาณสารสกัดเอทานอล ไม่น้อยกว่า 10% w/w  ปริมาณสารสกัดน้ำ ไม่น้อยกว่า 9% w/w  ปริมาณน้ำมันระเหยง่าย (volatile oil) ไม่น้อยกว่า 6% v/w  ปริมาณสารเคอร์คูมินอยด์ไม่น้อยกว่า 5% w/w

สรรพคุณ:
           ตำรายาไทย: ใช้ภายใน ช่วยเจริญอาหาร ยาบำรุงธาตุ ฟอกเลือด แก้ท้องอืดเฟ้อ แน่น จุกเสียด ลดน้ำหนัก ปวดประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ปกติ อาการดีซ่าน แก้อาการวิงเวียน แก้หวัด แก้อาการชัก ลดไข้ ขับปัสสาวะ รักษาอาการท้องมาน แก้ไข้ผอมแห้ง แก้เสมหะและโลหิตเป็นพิษ โลหิตออกทางทวารหนักและเบา แก้ตกเลือด แก้อาการตาบวม แก้ปวดฟันเหงือกบวม มีฤทธิ์ระงับเชื้อ ต้านวัณโรค ป้องกันโรคหนองใน แก้ท้องเสีย แก้บิด รักษามะเร็งลาม ใช้ภายนอก ช่วยลดอาการฟกช้ำบวม ปวดไหล่และแขน บวมช้ำและปวดบวม แก้ปวดข้อ สมานแผลสดและแผลถลอก ผสมยานวดคลายเส้นแก้เคล็ดขัดยอก แก้น้ำกัดเท้า แก้ชันนะตุ แก้กลากเกลื้อน แก้โรคผิวหนังผื่นคัน สมานแผล รักษาฝี  แผลพุพอง  ลดอาการแพ้  อักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อย  ตำใส่แผลห้ามเลือด รักษาผิว บำรุงผิว
           นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา  ปรากฏการใช้ขมิ้นชัน ในยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ปรากฏตำรับ”ยาเหลืองปิดสมุทร” มีส่วนประกอบของขมิ้นชันเป็นองค์ประกอบหลัก ร่วมกับสมุนไพรอื่นอีก 12 ชนิดในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูก หรือมีเลือดปนและท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้ นอกจากนี้ยังจัดอยู่ในบัญชียาพัฒนาจากสมุนไพรที่สามารถใช้เดี่ยว เพื่อบรรเทาอาการแน่น จุกเสียด

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
           ใช้ภายใน(ยารับประทาน):
                - ยาแคปซูลที่มีผงเหง้าขมิ้นชันแห้ง 250 มิลลิกรัม รับประทานครั้งละ 2-4 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน  อาจปั้นเป็นลูกกลอนกับน้ำผึ้ง
                - เหง้าแก่สดยาวประมาณ 2 นิ้ว ขูดเปลือก ล้างน้ำให้สะอาดตำให้ละเอียด เติมน้ำ คั้นเอาแต่น้ำ รับประทานครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ วันละ 3-4 ครั้ง
           ใช้ภายนอก:
                - ใช้เหง้าขมิ้นแก่สดฝนกับน้ำสุก หรือผงขมิ้นชันทาบริเวณที่เป็นฝี แผลพุพอง หรืออักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อย
                - เหง้าแก่แห้ง บดเป็นผงละเอียด ทาบริเวณที่เป็นเม็ดผื่นคัน
                - เหง้าแห้งบดเป็นผง นำมาเคี่ยวกับน้ำมันพืช ทำน้ำมันใส่แผลสด
                - เหง้าแก่ 1 หัวแม่มือ ล้างสะอาดบดละเอียด เติมสารส้มเล็กน้อย และน้ำมันมะพร้าวพอแฉะๆใช้ทาบริเวณที่เป็นแผลพุพอง ที่หนังศีรษะ

องค์ประกอบทางเคมี:
           สารกลุ่มเคอร์คิวมินนอยด์ (curcuminoids) ประกอบด้วย เคอร์คิวมิน (curcumin), monodesmethoxycurcumin, bisdesmethoxycurcumin
           น้ำมันระเหยง่าย (volatile oil) มีสีเหลืองอ่อน สารหลักคือเทอร์เมอโรน (turmerone) 60%, ซิงจิเบอรีน (zingiberene) 25%, borneol, camphene, 1, 8 ciniole , sabinene, phellandrene

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:
           มีฤทธิ์ขับลม ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ กระตุ้นการหลั่งสารเมือกมาเคลือบ และยับยั้งการหลั่งน้ำย่อยต่างๆ สมานแผลในกระเพาะอาหาร ต้านการอักเสบของลำไส้ใหญ่ ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านเชื้อบิดมีตัว ฆ่าพยาธิ ต้านเชื้อ Helicobacter pylori ฤทธิ์ ต้านการอักเสบ ฤทธิ์ขับน้ำดี แก้ท้องอืด  ท้องเฟ้อ  ขับลม  รักษาอาการอุจจาระร่วง ยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกร็ดเลือด คลายกล้ามเนื้อเรียบของลำไส้และมดลูก ป้องกันการเกิดมะเร็งและต้านมะเร็ง ปกป้องตับ ต้านออกซิเดชั่น มีฤทธิ์ต้านการเกิดโรคความจำเสื่อม โดยมีผลป้องกันการถูกทำลายของเซลล์สมอง

การศึกษาทางคลินิก:
           รักษาอาการท้องเสีย  อาการแน่นจุกเสียด อาหารไม่ย่อย และลดกรด รักษาแผลในทางเดินอาหาร บรรเทาอาการปวดท้องเนื่องจากกระเพาะอาหารเป็นแผลได้ ลดการบีบตัวของลำไส้ รักษาสิว
           รักษาอาการข้อเข่าอักเสบ เมื่อใช้สารสกัดวันละ 2 กรัม นาน 6 สัปดาห์ ในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมอักเสบชนิดไม่ทราบสาเหตุ  สามารถลดความเจ็บปวดเมื่อเดินบนพื้นราบ และเมื่อขึ้นลงบันได โดยมีประสิทธิผล และความปลอดภัยเท่ากับยาไอบิวโพรเฟน


การศึกษาทางพิษวิทยา:
           การศึกษาพิษเฉียบพลันของเหง้าขมิ้นชันในหนูถีบจักร พบว่าหนูที่ได้รับผงขมิ้นขันทางปากในขนาด 10 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ไม่แสดงอาการพิษ และเมื่อให้สารสกัดของเหง้าขมิ้นชันด้วย 50%แอลกอฮอล์ โดยวิธีป้อนทางปาก ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง และทางช่องท้องในขนาด 15 กรัม/กิโลกรัม พบว่าไม่ทำให้เกิดอาการพิษเฉียบพลันและหนูถีบจักรไม่ตาย ขนาดของสารสกัดทำให้หนูตายครึ่งหนึ่ง (LD50) เมื่อให้โดยวิธีดังกล่าว จึงมีค่ามากกว่า 15 กรัม/กิโลกรัม

ข้อควรระวัง:      
           1. การใช้ขมิ้นเป็นยารักษาโรคกระเพาะ  ถ้าใช้ขนาดสูงเกินไป  จะทำให้เกิดแผลในกระเพาะ
           2. คนไข้บางคนอาจมีอาการแพ้ขมิ้น  โดยมีอาการคลื่นไส้  ท้องเสีย  ปวดหัว  นอนไม่หลับ  ให้หยุดยา
           3. ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีการอุดตันของท่อน้ำดี เช่น นิ่วในถุงน้ำดี และห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์

           4. ควรระมัดระวังในการใช้ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เนื่องจากเสริมฤทธิ์กัน อาจทำให้เลือดแข็งตัวช้า และเลือดไหลหยุดยากได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น